หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

E-Library หรือ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

     ความหมาย E-library มาจากคำว่า Electronic Library หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง แหล่งความรู้ที่บันทึกข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและให้บริการสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
     ประวัติความเป็นมา ห้องสมุดเป็นแหล่งสำคัญของชาติในการถ่ายทอดความรู้ ตามประกาศองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ ใน “กฎบัตรว่าด้วยหนังสือ” ตั้งแต่ปี 1972 มาจนถึงปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ยังคงยึดมั่นในหลักการดังกล่าว ห้องสมุดจึงได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ กอปรกับสภาพสังคมที่ให้ความสำคัญกับฐานความรู้ห้องสมุดจึงมีขอบข่ายให้บริการกว้างขวางมากขึ้น และถูกเรียกขานด้วยชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น ศูนย์ข้อมูลการศึกษา  ศูนย์เอกสาร และศูนย์วิทยบริการ ห้องสมุดเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมสารสนเทศ และอารยธรรมของมนุษยศาสตร์ในทุกยุคทุกสมัย ระบบและวิธีการจัดเก็บหนังสือและสารสนเทศในห้องสมุดยุคเดิมที่จัดจำแนกประเภทหนังสือและให้บริการต่าง ๆ ในระบบมือทั้งหมดนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้สารสนเทศของผู้บริการในโลกยุคข้อมูลข่าวสารได้ครบถ้วน ห้องสมุดจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบและวิธีการจัดเก็บเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยการนเทคโนโลยีสารสนเทศ  อันได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจัดเก็บค้นหาสารสนเทศ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ใช้ในการเชื่อมโยงผู้ใช้กับการฐานข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ในระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งภายในห้องสมุดเอง ภายในสถาบัน ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
     วัตถุประสงค์ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บทรัพยากรห้องสมุดที่มีเพิ่มมากขึ้น (Reynolds, 1985 : 208) โดยการจัดเก็บสารสนเทศในห้องสมุดให้เป็นระบบฐานข้อมูลอัตโนมัติที่จัดเก็บสื่อต่าง ๆ ได้ทุกรูปแบบสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายในระดับต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     ลักษณะของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
1. การจัดการทรัพยากรสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์
2. ความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์
3. บรรณารักษ์หรือบุคลากรของห้องสมุดสามารถแทรกการติดต่อระหว่างผู้ใช้กับห้องสมุดได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ได้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์
4. ความสามารถในการจัดเก็บ รวบรวมและนำส่งสารสนเทศสู่ผู้ใช้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์
     เป้าหมาย การประยุกต์ใช้ E-Library เพื่อการศึกษา
     ข้อดีหรื่อประโยชน์ของการพัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ คือ การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ในการเข้าถึงข้อมูลหรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ในเวลาที่ต้องการเป็นการแพร่กระจายความรู้ให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เช่นเดียวกับการดำเนินงานขององค์กรในลักษณะ e-Office และ e-Commerce เป็นต้น
     ข้อเสียหรื่อข้อจำกัด
-ผู้ใช้จะต้องมีอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต
-ผู้ใช้ต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์

วิเคราะห์เหตุที่มี E-library เกิดขึ้น สอดคล้องกับสังสมปัจจุบันอย่างไร
     จะเห็นว่าปัจจุบันนี้โลกแคบไปมาก ความรู้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก สังคมก็เป็นสังคมฐานความรู้ คนที่มีความรู้ดี มีความรู้ทันสมัยก็จะได้เปรียบ จะทำอะไรก็ต้องทำด้วยการอาศัยหลักวิชา ฉะนั้นการหาความรู้อยู่เสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น การรู้วิธีหาความรู้จึงเป็นเรื่องที่ต้องสอนให้กับนักเรียนทุกคน การสอนวิธีหาความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าการสอนความรู้สำหรับโลกอนาคต เพราะเนื้อหาสาระความรู้จะเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ฉะนั้นในการสอนจะต้องสอนให้รู้วิธีหาความรู้ สอนให้รักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ฉะนั้นเครื่องมือในการหาความรู้ที่จำเป็นสำหรับเด็กก็ ได้แก่ ความรู้และทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาความรู้ นอกจากนั้นเวลาไปไหนก็มักจะต้องพบกับเทคโนโลยี ผู้ใหญ่หลายคนไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสังคมปัจจุบันเป็นสังคมกดปุ่มมากข้น คนใช้เทคโนโลยีไม่เป็นก็รู้สึกว่าจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมลำบาก เริ่มตั้งแต่การใช้โทรศัพท์จะต้องรู้ว่าสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง บางคนซื้อโทรศัพท์มาอย่างดีแต่ใช้ได้แค่โทรออกกับรับเท่านั้น เปิดรับข้อความ ส่งข้อความ บันทึกข้อความ หรืออื่น ๆ ทำไม่เป็นเลย ยิ่งถ้าไปต่างประเทศจะเห็นชัดว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีสำหรับชีวิตประจำวันเป็น ขึ้นรถเมล์ รถใต้ดิน เข้าสวนสนุก และอะไร ๆ ก็ต้องเสียบการ์ด หยอดเหรียญทั้งนั้น คนไม่รู้ก็อยู่ลำบาก ฉะนั้นในการจัดการศึกษาเพื่อสังคมโลกอนาคตจะต้องสอนให้รู้วิธีหาความรู้ และมีความรู้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์

วิเคราะห์แผนการสอน

วิเคราะห์ แผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาวิทยาศาสตร์ 8 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง แร่และหิน เวลา 5 ชั่วโมง
     ที่มา: บทความทางวิชาการเรื่องแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร พัชราพร รัตนวโรภาส และพีราวุฏฐ์ พิมพ์รอด
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. ทดลองและอธิบายกระบวนการเกิดหินและสมบัติบางประการของหิน
2. ระบุชนิดของหินในท้องถิ่น
3. อธิบายและยกตัวอย่างประโยชน์ของหินชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหินในท้องถิ่น
4. เสนอแนะการจัดการ การใช้ประโยชน์จากหินอย่างคุ้มค่า

แนวความคิดหลัก
     หินมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีกระบวนการเกิด มีลักษณะและองค์ประกอบแตกต่างกัน หินอัคนีเป็นหินที่เกิดจากการตกผลึกของแร่และการเย็นตัวแข็งของแมกมา แบ่งเป็นหินอัคนีแทรกซอนมีเนื้อหยาบ และหินอัคนีผุ กร่อน พัดพา กดทับ และเชื่อมประสาน หินตะกอนจึงมีลักษณะเป็นเนื้อผสมแยกกันเห็นชัด ยกเว้นหินตะกอนที่เกิดจากการสลายตัวทางเคมีของซากพืช ซากสัตว์ในทะเล จะมีเนื้อละเอียดเนียน เช่น หินปูน หินแปรเป็นหินที่เกิดจากการแปรสภาพจากหินเดิมภายใต้อิทธิพลของความร้อน ความดัน และปฏิกิริยาเคมีในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันด้วยกระบวนการแปรสภาพ หินแปรจึงมีลักษณะที่เหมือนถูกกดทับ มีการเรียงตัวของแร่เป็นชั้นบ้าง หรือถูกแปรสภาพเป็นแร่ใหม่ในเนื้อหินบ้างเป็นต้น
การนำหินไปใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับลักษณะและองค์ประกอบของเนื้อหินเช่น ใช้ในการก่อสร้างใช้ในการประดับตกแต่ง ใช้ปูพื้นทางเดิน ใช้บุผนัง

กระบวนการจัดการเรียนรู้
1. นักเรียนศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเกิดหินแต่ละประเภท แล้วสรุปประเด็นสำคัญปฏิบัติการทดลอง
2. จำลองการเกิดหินอัคนี โดยใช้สรละลายสารส้มที่อิ่มตัว แล้วปล่อยให้ตกผลึกอย่างช้า ๆ และ
รวดเร็ว เพื่อเปรียบเทียบลักษณะของผลึกที่เกิดขึ้น สังเกตและบันทึกรูปร่างผลึกของสารส้มที่ได้ลงในใบกิจกรรม
3. ปฏิบัติการทดลอง จำลองการเกิดของหินตะกอนโดยวิธีต่าง ๆ คือ
3.1 การสาธิตจากแบบจำลองเพื่อแสดงถึงการพัดพา การสะสม การทับถมตะกอน
3.2 ทดลองจำลองการแข็งตัวของตะกอนที่ถูกสะสมทับถม โดยใช้กาวเป็นตัวเชื่อมประสาน
3.3 สังเกตลักษณะการสะสมทับถมตะกอน และการแข็งตัวของตะกอน แล้วบันทึกลงในใบกิจกรรม
4. ปฏิบัติการทดลอง จำลองการเกิดของหินแปร โดยใช้ดินน้ำมันเป็นก้อนกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใช้คลิปหนีบกระดาษกดลงในก้อนดินน้ำมันทุกทิศทางโดยรอบ แล้วออกแรงกดทับด้วยของหนักบนพื้นโต๊ะ สังเกตก้อนดินน้ำมันและคลิปหนีบกระดาษ เปรียบเทียบกันระหว่างก่อนและหลังการกดทับ บันทึกผลลงในใบกิจกรรม
5. นักเรียนแต่ละกลุ่มเสนอผลการทดลอง และร่วมกันอภิปรายในประเด็นต่างๆ แล้วสรุปผลประเด็นในการอภิปราย
- กระบวนการเกิดของหินอัคนี หินตะกอน และหินแปร
- กระบวนการเกิดของหินแต่ละชนิด ทำให้หินมีลักษณะต่างกัน
- การเกิดหินแต่ละประเภท มีกระบวนการเกิดที่แตกต่างกันอย่างไร
- เนื้อหินแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน อย่างไร
- ประเด็นอื่น ๆ ที่นักเรียนสนใจ
6. ศึกษาหินตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ
6.1 สำรวจ ตรวจสอบ สังเกต บันทึกลักษณะของหินตัวอย่างด้วยตาเปล่า และจัดประเภทของหิน โดยใช้เกณฑ์ที่ได้จากการสำรวจตรวจสอบหินแต่ละก้อน แล้วบันทึกผล
6.2 นักเรียนสำรวจตรวจสอบ สังเกต บันทึกลักษณะของหินตัวอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้แว่นขยาย และนำความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติมเอกสารมาสรุปลงความเห็นจัดจำแนกประเภทของหินอีกครั้งหนึ่ง
6.3 เปรียบเทียบกับการจำแนกหินเป็นกลุ่มด้วยตาเปล่ากับเมื่อใช้แว่นขยาย เหมือนหรือต่างกันอย่างไรเพราะเหตุใด
7. สำรวจแหล่งหินในท้องถิ่นหรือบริเวณใกล้เคียง โดยจัดเป็นกิจกรรมค่ายศึกษาธรณีวิทยาในท้องถิ่น

การเตรียมตัวล่วงหน้าของครู
- เตรียมสำรวจบริเวณที่จะศึกษาล่วงหน้า และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและประเภทของหินทั้งจากเอกสาร ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาและหน่วยงานทางธรณีวิทยาในท้องถิ่น คือ กรมทรัพยากรธรณี หรือทรัพยากรธรณีเขต หรือทรัพยากรธรณีจังหวัด
- เตรียมวิทยากร
- จัดแบ่งบริเวณที่จะให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาและทำกิจกรรม
- เตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษาภาคสนาม ได้แก่ แผนที่ในการเดินทาง แผนที่ธรณีวิทยา แว่นขยาย ค้อนธรณีหรือค้อนปอนด์ และเอกสารประกอบการค้นคว้า
- เตรียมตัวนักเรียน โดยแนะนำเกี่ยวกับการแต่งกายของนักเรียน ได้แก่ กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว หมวก ถุงเท้า และรองเท้าผ้าใบ เป็นต้น

กิจกรรมของนักเรียน
- นักเรียนสำรวจและศึกษาแหล่งหินในภาคสนาม โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ศึกษาที่ละแหล่งจนครบทั้งบริเวณ บันทึกรายละเอียด การสังเกต การวิเคราะห์ อภิปราย และลงความเห็นภายในกลุ่มลงในใบกิจกรรม
- นักเรียนนำเสนอผลการศึกษาหินแต่ละแห่ง และอภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งหินและลักษณะของหินแต่ละบริเวณ
- นักเรียนสรุปผลการเรียนรู้เรื่องหินในท้องถิ่นจากการศึกษาภาคสนาม
- นักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหินประเภทต่างๆ และการใช้หินในท้องถิ่น แล้ว

สรุปผล
- นักเรียนรวบรวมความรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจที่ได้จากการศึกษาภาคสนามบันทึกลงในใบกิจกรรม

กระบวนการวัดและประเมินผล
1. สังเกตการณ์ปฏิบัติทั้งในห้องทดลองและทำกิจกรรมภาคสนาม ซึ่งประเมินกระบวนการทำกิจกรรม การนำเสนอผลการทำกิจกรรม การอภิปรายแสดงความคิดเห็น การสรุปความรู้
2. ประเมินความร่วมมือในการทำกิจกรรมในกลุ่ม
3. ให้นักเรียนประเมินตนเองและประเมินผลของเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ
4. ประเมินเจตคติ คุณธรรม ค่านิยม ที่นักเรียนแสดงออกให้เห็นตลอดกระบวนการเรียน

แหล่งการเรียนรู้
1. สวนธรณีในท้องถิ่น
2. แหล่งหินในท้องถิ่น
3. ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีในท้องถิ่น
4. หน่วยงานด้านธรณีในท้องถิ่น
5. เอกสารประกอบการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหิน
6. เว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น
http://www.kids.eart.nasa.gov/
http://www.observe.arc.nasa.gov/nasa/core.shtml.html
http://www.soest.hawaii.edu/

     การวิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้ในที่นี้เป็นการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการและขอโยงกลับไปที่ปัญหาของครูที่กล่าวมาในตอนต้น เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นภาพตาม จึงขอแยกเป็นประเด็นใหญ่ ๆ 4 ประเด็น คือ

     ประเด็นแรก แผนการจัดการเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ที่ 4 มีหลายแผ่นซึ่งการเขียนหลายแผ่นนี้อาจทำให้ครูเบื่อหน่ายได้เหมือนปัญหาข้อแรกของครูที่บอกว่ามีรายละเอียดมากเกินไปซับซ้อน อีกประการหนึ่งไม่ทราบว่าแต่ละหัวข้อที่เขียนมานั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ถ้าครูอยากรู้ครูก็ต้องพลิกไปพลิกมาเสียเวลาทั้งเวลาเขียนและเวลานำมาใช้ ด้วยเหตุนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้ครูเบื่อหน่าย และไม่รู้ว่าจะนำมาเชื่อมโยงกันอย่างไร
     ประเด็นที่สอง เริ่มจากชื่อหน่วยที่ตั้งไว้ว่า “แร่และหิน” แต่พอมองที่จุดประสงค์การเรียนรู้ว่าจะสอดคล้องกันหรือไม่ก็พบว่า
- จุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 4 ข้อ พูดถึงแต่เฉพาะเรื่อง “หิน” เท่านั้น ไม่มีจุดประสงค์ข้อใดพูดถึงเรื่อง “แร่” เลย จึงมองไปที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ว่าจะพูดเรื่องแร่ด้วยหรือไม่ ก็พบว่า
- กระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมี 7 ข้อด้วยกันและทุกข้อพูดแต่การเรียนรู้เรื่อง “หิน” เพียงอย่างเดียว จึงพลิกไปดูกิจกรรมของนักเรียนว่าจะมีกิจกรรมใดที่เป็นการศึกษาเรื่อง “แร่” หรือไม่ก็พบว่า
- กิจกรรมของนักเรียน ทุกกิจกรรมให้ผู้เรียนศึกษาเฉพาะเรื่อง “หิน” เท่านั้น
     ประเด็นที่สาม ดูที่จุดประสงค์การเรียนรู้ข้อที่ 1 ที่ว่า “ทดลองและอธิบายกระบวนการเกิดหิน และสมบัติบางประการของหิน”  ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า เราจะทดลองการเกิดหินได้อย่างไร และจะทดลองได้จริงหรือ เพราะหินนั้นกว่าจะเป็นหินได้ต้องใช้เวลานับร้อย ๆ ปี
ดูที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ในข้อ 2...“จำลองการเกิดหินอัคนี โดยใช้สารละลายสารส้มที่อิ่มตัว แล้วปล่อยให้ตกผลึกอย่างช้า ๆ และอย่างรวดเร็ว เพื่อเปรียบเทียบลักษณะของผลึกที่เกิดขึ้น สังเกตและบันทึกรูปร่างผลึกของสารส้มที่ได้ลงในใบกิจกรรม”
     ประเด็นที่สี่ มาดูกันที่กระบวนการวัดและประเมินผลตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 3
1. สังเกตการปฏิบัติทั้งในห้องทดลองและการทำกิจกรรมภาคสนาม (เป็นการประเมินในขณะที่เรียน)
2. ประเมินความร่วมมือในการทำกิจกรรมในกลุ่ม (ก็เป็นการประเมินในขณะที่เรียน)
3. ให้นักเรียนประเมินตนเองและประเมินผลของเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ ( ก็ยังคงเป็นการประเมินในขณะเรียน)
ที่จริงแล้วการประเมินนี้มี 2 แบบคือ 1. ประเมินจากกิจกรรม  2. คิดกิจกรรมมาใหม่   แต่ดูจากการประเมินทั้ง 3 ข้อ จะพบว่าเป็นการประเมินในขณะที่เรียนทั้งสิ้น ไม่มี “เครื่องมือ” ที่ใช้ในการประเมิน และที่น่าสังเกต “กิจกรรมหรืองาน” ที่ใช้ในการประเมินก็ไม่มีเช่นกัน ที่สำคัญการประเมินในข้อที่ 4
4. ประเมินเจตคติ คุณธรรม ค่านิยม (ก็ไม่มีบอกไว้ในจุดประสงค์หรือในกิจกรรมการเรียนเลย)
ถามว่าการประเมินในข้อที่ 4 นั้นผิดหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ผิดถ้าจะประเมิน แต่ที่ถูกคือควรจะระบุไว้ในจุดประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้หรือในกิจกรรมการเรียนเพื่อที่ผู้สอนจะได้เตรียมการให้สอดรับกับการประเมินผลนั้น ๆ
      จากการวิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องแร่และหินข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ใหม่ให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งแผนการจัดการเรียนรู้นี้ผู้เขียนได้นำปรัชญา การเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มีการกล่าวขานกันมากในปัจจุบันคือ การสร้างองค์ความรู้ (Constructivism) มาเป็นแนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จุดเริ่มต้นของการศึกษาไทย

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น ดูเป็น ฟังเป็น รู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น
     เพระ การศึกษาพื้นฐานคือเรื่องการบริโภคปัจจัยสี่ กับเรื่องการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ จะต้องให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าได้จุดนี้แล้วการศึกษาก็เริ่มเดินหน้า ถ้าเข้าโรงเรียนแล้วไม่รู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น ก็คือไม่มีการศึกษา เพราะยังไม่ได้เริ่มการศึกษาเลย เพราะฉะนั้น ต้องถามตัวเองว่า
     1. ดูแล้วได้ความรู้ไหม ได้ความรู้คือได้ปัญญา หรือเดินหน้าไปในการที่จะเข้าถึงความจริง เราต้องมีความรู้จึงจะสามารถดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ได้สำเร็จ และจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นดูแล้วต้องรู้ คือก้าวไปหาความจริง
     2. ดูแล้วได้ประโยชน์ไหม ได้ประโยชน์คือสามารถเอามาพัฒนาชีวิตและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ คือดูแล้วได้ข้อมูล ได้แง่มุมความคิด ได้คติ ที่จะเอามาใช้ประโยชน์
      จุดเริ่มต้นของการศึกษาไทยในอดีตเริ่มที่วัด โดยพระสงฆ์เป็นผู้จัดการเรียนรู้อบรมสั่งสอนให้ได้รับความรู้คู่คุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม  โดยมีการการจัดการศึกษาเพื่อตัวบุคคล คือภิกษุสามเณรทุกรูปที่บวชมาจะต้องศึกษาหลักเบื้องต้นคือพระวินัย การศึกษาพระวินัยก็คือศึกษาเรื่องศีลของภิกษุสามเณร ระเบียบปฏิบัติทางศาสนา รวมถึงธรรมเนียมต่างๆ เป็นการศึกษาเพื่อรักษาตัวเอง เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำได้ถูกต้อง ตลอดถึงศึกษาเพื่อเอาตัวให้รอด คือหลุดพ้นจากความทุกข์ เช่นศึกษาและปฏิบัติกรรมฐาน การจัดการศึกษาแบบนี้เป็นการจัดให้เฉพาะตัวบุคคล ได้ประโยชน์เฉพาะตัว ใครทำใครได้ และเอาตัวรอดได้ โดยจะเรียนตามอัธยาศัย เรียนจากตำรา หรือจากครูอาจารย์ก็ได้      การจัดการศึกษาเพื่อพระศาสนา คือจัดหลักสูตรให้เป็นประโยชน์ในเชิงธำรงรักษาเนื้อหาสาระหรือแก่นสารพระศาสนาเข้าไว้ ได้แก่ การเรียนนักธรรมและบาลี หลักสูตรที่ใช้เรียนก็มีเนื้อหาที่มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า โดยนำพระไตรปิฎกและหลักธรรมต่างๆ มาย่อแล้วเรียนกัน เรียนเพื่อรักษาพระพุทธศาสนา เรียกกันว่าเรียนพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธศาสนาดำรงคงอยู่และสืบต่อมาได้ทุกวันนี้โดยไม่สูญหายหรือผิดเพี้ยนไป และมีการสืบทอดพัฒนาตลอดมาก็เพราะได้อาศัยการศึกษาเล่าเรียนแบบนี้
     การจัดการศึกษาเพื่อสังคม การศึกษาแบบนี้เป็นการจัดการศึกษาเพื่อช่วยเหลือสังคมคือลูกชาวบ้านโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา กล่าวคือสมัยแรกๆ รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึง ทำให้ลูกชาวบ้านผู้ใฝ่รู้แต่ยากจนไม่มีโอกาสได้เรียน จึงอาศัยมาบวชเป็นสามเณรจึงได้เรียน การเรียนแบบนี้เรียกกันว่า "พระปริยัติธรรมแผนกสามัญ" คือเรียนวิชาทางโลกควบคู่กันไปกับเรียนทางธรรมตามแบบที่ 2 เมื่อเรียนจบแล้วก็สึกหาลาเพศไป และสามารถใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปได้ การจัดการศึกษาแบบนี้จึงเป็นการช่วยเหลือสังคมหรือผลิตคนที่มีคุณภาพให้สังคมได้ทางหนึ่ง